การตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง

   ความล้มเหลวของการผังเมืองของประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากการละเลยไม่นำบริบทของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์และปัจจัยธรรมชาติมาร่วมพิจารณาอย่างเป็นระบบ การวางผังเมืองของไทยจำกัดขอบเขตทางกายภาพเฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากผังของเมืองต่างๆ ที่ประกาศใช้มีรูปร่างตามเขตเทศบาลหรือเขตปกครองรูปแบบต่างๆ 

        เราเข้าใจถึงเหตุที่ชุมชนดั้งเดิมตั้งอยู่ริมน้ำและตามที่ลุ่มดินดีเพราะต้องพึ่งพาการเกษตร ต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและใช้เป็นทางสัญจร แต่เราฉงนและมึนงง ไม่เข้าใจว่าเหตุใดประชากรสมัยใหม่ที่เลิกเพาะปลูกดำรงชีวิตด้วยการค้าขาย การอุตสาหกรรมและการบริการจึงยังคงใช้นาชั้นดีที่มีน้ำหลากพาปุ๋ยธรรมชาติมาท่วมทับถมทุกปี ยังต้องใช้ทรัพยากรดินแหล่งเพาะปลูกชั้นดีทำเมืองเลวๆ ต่อไปอีก ที่นาอุดมสมบูรณ์ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างระบบคลองชลประทานย่านรังสิตที่มีประสิทธิภาพสำหรับเพิ่มผลผลิตข้าวโดยใช้เงินกู้ต่างประเทศจำนวนมากมาสร้างเมืองที่เต็มไปด้วยความทุกข์ระทม เรางงว่าเหตุใดเราจึงยังปล่อยให้มีการเอานาดีมาทำเมืองเลวอย่างนี้อยู่อีกต่อไปเรื่อยๆ 
 

บน บ้านจัดสรรแบบแออัดสร้างบนพื้นที่ลุ่มสำหรับเกษตรกรรมชั้นดี (ที่นาทุ่งรังสิตคลอง 4) ปรากฏให้เห็นทั่วไป นอกจากนี้ยังไม่สนองตอบต่อคุณภาพชีวิตและวิถีการดำรงชีวิตอีกด้วย

        ผมเห็นมากับตาเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้วที่จังหวัดลำปาง เมืองที่มีพื้นที่ราบมีภูเขาล้อมรอบ พื้นที่ที่เป็นดินดีจากน้ำหลากจากภูเขาพาตะกอนปุ๋ยธรรมชาติมากับน้ำท่วมทับถมให้ทุกปีซึ่งทำให้น้ำท่วมเป็นประจำ เมื่อสร้างบ้านจัดสรรในที่นาลุ่ม เขาจึงใช้วิธีถมโดยขุดดินสีขาวๆ จากที่ดอนมาถม เมื่อผมเดินไปดูใกล้ๆ ที่แท้ก็คือดินขาวค่อนข้างดีที่ใช้สำหรับทำถ้วยชามและเครื่องใช้เซรามิกที่ฝรั่งเรียก kaolin นั่นเอง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าครั้งเดียวแบบสองเด้งที่ร้ายแรงขนาดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร การวางผังเมืองจำกัดอยู่ตรงเส้นแบ่งเขตเทศบาลใกล้ๆ นั้นเอง ใครอยากตั้งถิ่นฐานที่ใดก็ได้ตามใจชอบถ้าอยู่นอกเขตเทศบาล แต่เดี๋ยวนี้เมื่อเป็น อ.บ.ต. แล้วก็ยิ่งแล้วใหญ่

น้ำป่าหลากท่วมถล่มนครอิสตันบุล
 
       การพัฒนาเมืองผิดที่หรือฝืนธรรมชาติมีผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น แม้แต่เมืองสำคัญของโลก เช่น อิสตันบุล ประเทศตุรกีก็ยังประสบกับภาวะภัยพิบัติจากน้ำป่าได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งนับวันภัยพิบัติทางธรรมชาติจะยิ่งรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน นายกรัฐมนตรีกล่าวโทษนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถาบันสถาปนิกตุรกีกล่าวหาการผังเมือง
 

บน น้ำป่าฉับพลันไหลผ่านนครอิสตันบุลเมือ่วันที่ 9 กันยายน 2552 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 คน ทรัพย์สินเสียหายอีกนับไม่ถ้วน (ภาพจาก STR/Getty)
 

ดูวิดิทัศน์จากยูทูบ- น้ำท่วมอิสตันบุล โดยอัลจาซีรา 
 

        ดังนั้นการผังเมืองกับบริบทการตั้งถิ่นฐานและบริบทของธรรมชาติจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน กฎหมายผังเมืองจะต้องครอบคลุมไปถึงการตั้งถิ่นฐานและการพิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนอกเขตการปกครองด้วย .....และแน่นอนที่สุดการผังเมืองย่อมต้องรวมถึงบริบททางวัฒนธรรมและประเพณีด้วย ซึ่งวัฒนธรรมรวมอยู่ในหัวเรื่องการตั้งถิ่นฐานด้วยเช่นกัน

        ประเทศไทยก็เช่นกัน มีปัญหาน้ำท่วมเมืองทุกๆ ปี แต่กระนั้นก็ยังไม่มีนโยบายการตั้งถิ่นฐานระดับชาติที่จะหยุดขยายการตั้งถิ่นฐานในที่ลุ่ม และค่อยๆ ย้ายขึ้นที่สูงที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ตัวอย่างมีให้เห็นไปทั่วโลกเช่นน้ำท่วมเมืองจันทบุรีเป็นต้น

ดูวิดิทัศน์จากยูทูบ-น้ำท่วมลพบุรี โดยอัลจาซีรา

ดูวิดิทัศนยูทูบ-นำท่วมเมืองเชียงราย โดยอัลจาซีรา