โครงการหลวง - น้ำ
ในชีวิตประจำวันของคนเรามีความเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตลอดเวลาเราต้องดื่มน้ำเพื่อดำรงชีพ เราต้องการน้ำในการชำระล้างร่างกาย เราต้องการฝนและแม่น้ำในการเพาะปลูก ตามธรรมชาติแล้วน้ำมีวงจรการไหลเวียนของมันสมบูรณ์อยู่แล้ว จากตาน้ำสู่แม่น้ำ จากแม่น้ำสู่ทะเล จากทะเลสู่ท้องฟ้า จากท้องฟ้าสู่ป่าเขา จากป่าเขากับมาสู่ตาน้ำอีกครั้ง วนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย เพราะฉะนั้นเมื่อคนมีความต้องการที่จะใช้น้ำโดยเข้าไปขวางวงจรในขั้นใดขั้นหนึ่งนั้น คนจึงต้องมีความรับผิดชอบในการทำให้วงจรของน้ำยังคงอยู่ตามธรรมชาติ
สำหรับงานทางด้านภูมิสถาปัตยกรรมแล้ว “น้ำ” นับเป็นหัวข้อสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง มนุษย์ตั้งถิ่นฐานและนำน้ำมาใช้ เมื่อน้ำผ่านพื้นที่ๆ ถูกทำการเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์แล้วจะผ่านออกสู่ธรรมชาติอย่างไร เมื่อน้ำถูกคนนำมาชำระล้าง หรือดื่มเข้าไปแล้วกลายเป็นน้ำเสียแล้วจะกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างไร จากประเด็นที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดการวางแผนการใช้น้ำและระบายน้ำอย่างถูกต้องขึ้น
ตามหลักการภูมิสถาปัตยกรรมจะแบ่งน้ำออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ น้ำดีและน้ำเสีย จะเห็นได้ว่าหัวข้อของน้ำที่ภูมิสถาปนิกคำนึงถึงจะเป็นประเด็นปัญหา ซึ่งจะนำมาสู่การคิดหาวิธีแก้ปัญหาหรือ วิธีการป้องกันการเกิดปัญหาตามแนวทางของภูมิสถาปัตยกรรม
จากโครงการหลวงที่ได้ทำการศึกษาพบว่ามีอยู่หลายโครงการที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำ และเพื่อความเข้าใจในลำดับต่อๆ ไป จะขอแยกพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปว่าโครงการใดมีความเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อของน้ำเรื่องใด ดังต่อไปนี้
น้ำดี
- โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก จ.ลพบุรี,จ.สระบุรี
- โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จ.ลำพูน
- โครงการห้วยองคต จ.กาญจนบุรี
- โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก
- โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง จ.เชียงใหม่,จ.ลำพูน
น้ำเสีย
- โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี
- โครงการน้ำดีไล่น้ำเสียตามคลองต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร
- โครงการบำบัดน้ำเสียโดยใช้พืช บึงมักกะสัน จ.กรุงเทพมหานคร